พลเมืองดีก็อยากเป็น PDPA ก็ต้องระวัง

พลเมืองดีก็อยากเป็น PDPA ก็ต้องระวัง

ภาพจากกล้องหน้ารถหรือกล้องมือถือแบบไหนแชร์ได้ไม่ผิด?

อยากเป็นพลเมืองดีช่วยเหลือเพื่อนร่วมทางบนท้องถนนที่ได้รับอุบัติเหตุแบบไม่เป็นธรรมหรือส่งภาพเป็นหลักฐานให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อคลี่คลายคดีต่างๆ แต่ก็กลัวว่าถ้าแชร์ภาพหรือคลิปวิดีโอเหล่านั้นไปจะผิดกฎหมาย PDPA หรือเปล่าเพื่อนๆ อยากรู้กันไหมคะว่า ถ้าหากเราบันทึกภาพจากกล้องหน้ารถหรือบังเอิญใช้มือถือถ่ายติดเหตุการณ์ต่างๆ เช่น อุบัติเหตุ เหตุการณ์ทะเลาะวิวาทหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เราจะสามารถแชร์ภาพหรือวิดีโอเหตุการณ์นั้นได้หรือไม่ อย่างไร ไปดูกันค่ะ

กฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act)

คือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ถูกบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เพื่อไม่ให้ข้อมูลส่วนบุคคลถูกนำไปใช้หรือจัดเก็บไว้ ซึ่งหมายถึงการนำมาเผยแพร่หรือเปิดเผยในที่สาธารณะไม่ว่าจะเป็นรูปภาพหรือคลิปวิดีโอรวมถึงการนำข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ที่เราไม่ยินยอมจนอาจทำให้เกิดความเสียหายทางทรัพย์สินหรือชื่อเสียงได้ ซึ่งภาพที่เราสามารถเผยแพร่ได้และไม่ควรเผยแพร่ มีดังนี้

ภาพที่เผยแพร่ได้ (จะต้องไม่เห็นป้ายทะเบียนหรือเบลอป้ายทะเบียนแล้ว)

1. ภาพบันทึกเหตุการณ์บนท้องถนน ที่ไม่มีเจตนาจะทำให้ผู้อื่นเสียหาย
2. ภาพที่บันทึกไว้ เพื่อเตือนภัยให้ผู้อื่นระมัดระวัง
3. ภาพที่บันทึกไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานป้องกันตัว

ภาพที่ไม่ควรเผยแพร่

1. ภาพหรือวิดีโอบางส่วนที่ทำให้ผู้ที่ปรากฎในภาพหรือในวิดีโอนั้นเกิดความเสียหาย อับอายหรือถูกเข้าใจผิด
2. ภาพหรือวิดีโอที่มีวัตถุประสงค์นำไปใช้เพื่อการหารายได้
3. ผู้ที่ปรากฎในภาพหรือในวิดีโอนั้นไม่ยินยอมให้เปิดเผย
4. นำภาพหรือวิดีโอไปโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดีย โดยมีเจตนาเพื่อสร้างความเข้าใจผิดหรือทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง

อย่างไรก็ตาม “กฎหมายไม่ได้ระบุไว้ว่า ห้ามถ่ายภาพหรือถ่ายวิดีโอติดคน” ดังนั้นหากเพื่อนๆ ต้องการโพสต์ภาพหรือวิดีโอจากกล้องติดรถยนต์หรือจากโทรศัพท์มือถือลงในโซเชียลมีเดียเพื่อนๆ ต้องคำนึงเสมอว่า ภาพหรือวิดีโอเหล่านั้นจะสร้างความเสียหายต่อผู้อื่นหรือไม่ และหากเป็นไปได้ควรขออนุญาตบุคคลที่อยู่ในภาพหรือคลิปวิดีโอเหล่านั้นเสียก่อน เงินเทอร์โบจึงอยากขอเตือนว่า หากเพื่อนๆ ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) นี้ อาจโดนบทลงโทษถึง 3 ประเภทด้วยกัน ดังนี้ค่ะ

1. โทษทางอาญา: จำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน ถึง 1 ปี หรือปรับสูงสุดไม่เกิน 500,000 ถึง 1 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
2. โทษทางแพ่ง: ค่าสินไหมทดแทน + ค่าสินไหมเพื่อการลงโทษอีกไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายจริง
3. โทษทางปกครอง: ปรับไม่เกิน 1, 3, และ 5 ล้านบาท

สุดท้ายนี้ เงินเทอร์โบขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้พลเมืองดีทุกท่านที่อยากจะช่วยทำให้สังคมของเราน่าอยู่มากขึ้น ขอให้ทุกคนทำสิ่งดีๆ แบบนี้ต่อไปโดยเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน และหากจะโพสต์คลิปวิดีโอหรือภาพอะไรก็ควรระวังอย่าทำให้ผู้อื่นเสียหาย อับอายหรือเสียชื่อเสียงด้วยนะคะ

อ้างอิง : กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม